• หน้าแรก
  • เกี่ยวกับเรา
  • บทความพิเศษ
  • วิชาพลเมือง
  • รวมวีดีโอ
  • โครงงาน
  • ข่าว
  • ภาพกิจกรรม
  • ติดต่อเรา
หน้าหลักบทความพิเศษบทความพิเศษ

จุดอ่อนของ 'ระบบรัฐสภา' เราจะแก้ปัญหาอย่างไร? รัฐธรรมนูญฉบับไหนที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา? (เรียนรัฐธรรมนูญออนไลน์ ตอนที่ 5)

เขียนวันที่
วันอาทิตย์ ที่ 07 กันยายน 2557
ผู้ชม
1615 ครั้ง

10154482 703941389649802 4701598968862254216 n

จุดอ่อนของ 'ระบบรัฐสภา' เราจะแก้ปัญหาอย่างไร? รัฐธรรมนูญฉบับไหนที่เป็นจุดเริ่มต้นของปัญหา? (เรียนรัฐธรรมนูญออนไลน์ ตอนที่ 5)

"เนื่องจากระบบ 'รัฐสภา' นายกรัฐมนตรีมาจากเสียงข้างมากของสภาผู้แทนราษฎร ทำให้มีจุดอ่อนในเรื่อง 'การแบ่งแยกอำนาจ' ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร และทำให้เกิดปัญหาอย่างหนึ่งอย่างใดในสองอย่างคือ รัฐบาลเข้มแข็งมากควบคุมเสียงข้างมากในสภาได้หมดจนกลายเป็นเผด็จการ หรือไม่ก็จะได้รัฐบาลที่เป็นรัฐบาลผสมที่อ่อนแอแก้ปัญหาอะไรไม่ค่อยได้ ประเทศทั้งหลายที่ใช้ระบบรัฐสภาล้วนแต่เคยเกิดปัญหามาแล้วทั้งสองแบบรวมถึงประเทศไทยด้วย" อาจารย์สรุปเนื้อหาครั้งที่แล้ว "ระบบรัฐสภาที่เราเอามาใช้เป็นระบบการเมืองที่มีปัญหาครับ แต่ข่าวดีคือเรารู้วิธีแก้ไขแล้ว และวันนี้เราจะมาเรียนในเรื่องนี้กันครับ"

"ส.ส. เป็นฝ่ายนิติบัญญัติ หรือฝ่ายบริหารครับ?" อาจารย์เริ่มคำถามแรก
"ฝ่ายนิติบัญญัติครับ" นักศึกษา 4-5 คนตอบพร้อมๆ กัน
"ใช่ครับ" อาจารย์ถามต่อ "ดังนั้น ส.ส. จึงต้องตรวจสอบและถ่วงดุลรัฐบาลซึ่งเป็นฝ่ายบริหารใช่ไหมครับ" นักศึกษาพยักหน้า
"แล้วทำไม ส.ส. ที่สังกัดพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาล จึง 'ต้อง' ยกมือให้รัฐบาลครับ ทั้งๆ ที่ตัวเองเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ?"

อาจารย์ชี้ไปที่นักศึกษาคนหนึ่งที่กำลังเม้าท์กับเพื่อนที่นั่งข้างๆ เรื่องละครหลังข่าวตอนเมื่อคืน
"เอ้ยๆ อาจารย์ถามๆ" เพื่อนข้างๆ สะกิด นักศึกษาคนนั้นสะดุ้ง หยุดคุยทันที และรีบหันหน้ามาหาอาจารย์อย่างรวดเร็ว
"ทำไม ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลต้องยกมือให้รัฐบาลเหรอครับ .." นักศึกษาทวนคำถาม ขณะที่สมองหมุนติ้วเพื่อหาคำตอบ " .. ก็เป็นฝ่ายรัฐบาล ก็ต้องยกมือให้รัฐบาลสิครับ"
"แต่ ส.ส. เป็นฝ่ายนิติบัญญัติไม่ใช่เหรอ?"
"ก็ .. พรรคการเมืองที่ตั้งรัฐบาลก็เป็นฝ่ายรัฐบาล พรรคที่เหลือก็เป็นฝ่ายค้าน ส.ส. อยู่ฝ่ายไหนก็ต้องยกมือให้ฝ่ายนั้นสิครับ"
"แล้วถ้ารัฐบาลผิดล่ะ เช่น รัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจชี้แจงข้อกล่าวหาไม่ได้ ส.ส. ที่สังกัดพรรครัฐบาลควรยกมือไว้วางใจให้รัฐมนตรีคนนั้นไหม"
"เอ่อ .. ไม่ควรครับ"
"หรือถ้ารัฐบาลเสนอร่างกฎหมายที่มีปัญหา อย่างเช่นร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมเหมาเข่งสุดซอยที่ผ่านมา ส.ส. ที่สังกัดพรรครัฐบาลกลายคนก็ไม่อยากยกมือให้ผ่าน แต่ทำไมต้องยกมือให้ครับ"
"ไม่อยากยกก็ต้องยก เพราะพรรคสั่งให้ยกครับ"

"แล้วมันควรจะเป็นเช่นนั้นหรือ ถ้าประโยชน์ของพรรคสวนทางกับประโยชน์ของปวงชน ส.ส.ควรเลือกอะไรครับ?" อาจารย์หันมาถามนักศึกษาทั้งห้อง
"ประโยชน์ปวงชนครับ"
"แล้วที่เป็นอยู่เค้าเลือกอะไรครับ?"
"ประโยชน์พรรคครับ"
"แล้วอะไรทำให้เค้าเลือกประโยชน์พรรคแทนที่จะเลือกประโยชน์ปวงชนครับ"
"เพราะสังกัดพรรคไหนก็ต้องยกมือตามพรรคนั้นครับ"
"ตกลงรัฐบาลใช้ 'อะไร' เป็นเครื่องมือในการคุม ส.ส.?"
"พรรคการเมืองครับ"
"ใช่ครับ" อาจารย์ตอบ "ดังนั้น สภาที่จะถ่วงดุลรัฐบาลจึงเหลือแต่ฝ่ายค้านซึ่งเป็นเสียงข้างน้อย ประเทศไทยใครที่คุมพรรคที่มีเสียงข้างมากในสภาได้ ก็คุมประเทศไทยได้เลยครับ!"

อาจารย์กดสไลด์ ภาพประเทศเยอรมันสมัยฮิตเลอร์ปรากฏบนจอ "การแก้ปัญหาก็ต้องแก้ที่เหตุ แล้วอะไรคือเหตุที่ทำให้พรรคการเมืองคุม ส.ส.ได้ละครับ? ประเทศเยอรมันหลังจากแพ้สงครามโลกครั้งที่สอง ก็ตั้งโจทย์ข้อนี้และได้คำตอบว่า เพราะบังคับให้ ส.ส.สังกัดพรรค โดย ส.ส.ไม่มีเสรีภาพในการโหวต แล้วก็ไม่มี 'ประชาธิปไตยในพรรคการเมือง' หัวหน้าพรรคสั่งให้ยกมือเรื่องอะไรก็ต้องยกมือให้หมด ฮิตเลอร์ที่เป็นหัวหน้าพรรคนาซี พอได้เป็นนายกรัฐมนตรีเลยควบคุมประเทศเยอรมันได้หมด" อาจารย์หยุดนิดนึง "เมื่อเจอสาเหตุแล้วประเทศเยอรมันก็แก้ที่ต้นเหตุเลยครับ คือ หนึ่ง ไม่บังคับ ส.ส. สังกัดพรรค สอง ประกันเสรีภาพให้แก่ ส.ส. ในการทำหน้าที่ผู้แทนปวงชน หรือ 'หลักอิสระอาณัติของผู้แทนปวงชน' ที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Free Mandate และประการที่สามคือ สร้าง 'ประชาธิปไตยภายในพรรคการเมือง' เพื่อให้ในพรรคการเมืองเป็นประชาธิปไตย ไม่ใช่หัวหน้าพรรคสั่งได้หมด" อาจารย์พูดต่อ "และทำให้เยอรมันซึ่งเคยล้มเหลวกับประชาธิปไตย จนถึงกับเกือบจะสิ้นชาติ สามารถพลิกฟื้นกลับมาเป็นประชาธิปไตยที่เข้มแข็งที่สุดในโลกประเทศหนึ่งในขณะนี้ และกลายเป็นแนวทางให้ประเทศอื่นที่ใช้ระบบรัฐสภาได้แก้ไขตามครับ"

อาจารย์กล่าวต่อ "ประเทศไทยของเราบังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรค และให้พรรคการเมืองขับ ส.ส. ออกจากพรรคได้ โดยมีผลทำให้ต้องพ้นตำแหน่ง ส.ส. รัฐบาลก็เลยคุมสภาผู้แทนได้" อาจารย์หยุดนิดนึงและตั้งคำถาม "แต่ความจริงแล้วประเทศไทยของเราบังคับ ส.ส.ให้ต้องสังกัดพรรคมาตั้งแต่แรกหรือเปล่าครับ?" อาจารย์กดสไลด์ให้นักศึกษาดูตารางเปรียบเทียบการบังคับสังกัดพรรคตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับแรกจนฉบับปัจจุบัน

"รัฐธรรมนูญไทยฉบับ 10 ธันวาคม 2475 บังคับสังกัดพรรคหรือเปล่าครับ?" อาจารย์ถาม
"ไม่บังคับครับ" นักศึกษาตอบ
"แล้วเริ่มบังคับให้ ส.ส. สังกัดพรรคตั้งแต่รัฐธรรมนูญฉบับไหนครับ?"
"ฉบับปี 2517 ค่ะ เพราะเริ่มมีการบัญญัติเป็นครั้งแรกว่า ผู้สมัคร ส.ส. ต้องสังกัดพรรค"
"ถูกต้องครับ" อาจารย์ตอบ "แล้วรัฐธรรมนูญ ฉบับ 10 ธันวาคม 2475 บัญญัติเรื่องความเป็นผู้แทนปวงชนไว้อย่างไรครับ" อาจารย์กดสไลด์ และอ่านให้นักศึกษาฟัง

"สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรต้องเป็นผู้แทนปวงชนชาวสยาม มิใช่แทนแต่เฉพาะผู้ที่เลือกตนขึ้นมา โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมายหรือการครอบงำใดๆ"
อาจารย์กล่าวต่อ "เรามี 'หลักอิสระอาณัติของผู้แทนปวงชน' มาตั้งแต่แรกครับ แล้วมันหายไปตอนไหน?" อาจารย์กดสไลด์ไล่ไปเรื่อยๆ
"รัฐธรรมนูญปี 2489 มีหลักนี้ ปี 2492 ก็มี ปี 2475 แก้ไขเพิ่มเติม 2495 ก็ยังมี ปี 2511 ก็ยังอยู่ ทุกฉบับมีข้อความทำนองเดียวกับฉบับ 10 ธันวาคม 2475 ทั้งหมด ดูต่อซิครับมันหายไปในปีไหน?" อาจารย์กดสไลด์จนถึงรัฐธรรมนูญปี 2517
"สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย" ข้อความเหลือเพียงแค่นั้น
"หลักนี้หายไปในปีไหนครับ?" อาจารย์ถาม
"รัฐธรรมนูญปี 2517 ตัดทิ้งไปครับ" นักศึกษาตอบ

"นักศึกษาคิดว่า การที่รัฐธรรมนูญ 2517 บังคับ ส.ส. สังกัดพรรค พร้อมกับตัด 'หลักอิสระอาณัติของผู้แทนปวงชน' ทิ้งไปเนี่ยเป็นเหตุบังเอิญ หรือเป็นความจงใจ?" อาจารย์ตั้งคำถาม และชี้ไปที่นักศึกษาคนหนึ่ง
"อืมม์ .. ผมว่าน่าจะจงใจครับ" นักศึกษาตอบ
"ครับ เราจงใจให้ ส.ส.ตกอยู่ใต้อาณัติของพรรคการเมือง สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้เป็นผลของ รัฐธรรมนูญ 2517 ที่เริ่มต้นไว้เมื่อ 40 ปีที่แล้วครับ!"

นักศึกษาคนหนึ่งยกมือถาม "หมายความว่าในตอนแรก เราเอาระบบรัฐสภามาใช้พร้อมกับมีกลไกแก้ปัญหาเอาไว้แล้ว แต่เรามาทำลายกลไกนั้นในภายหลังเหรอครับ?"
"ถูกต้องครับ" อาจารย์ตอบ "ตอนร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกๆ อาจารย์ปรีดี พนมยงค์ทราบปัญหาของระบบรัฐสภาเป็นอย่างดี จึงได้ใส่วิธีป้องกันเอาไว้แล้ว แต่เราดันมาตัดทิ้งไปครับ"
"แต่ผมได้ยินมาว่า รัฐธรรมนูญ 2517 มีความเป็นประชาธิปไตยมากที่สุด ไม่ใช่เหรอครับ?" นักศึกษาถามด้วยความสับสน
"นั่นเป็นสิ่งที่เราพูดตามๆ กันมาโดยไม่เคยไปดูกันจริงๆ เลยว่ามันจริงหรือเปล่า คงเพราะรัฐธรรมนูญฉบับนี้ร่างหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 ก็เลยเชื่อกันว่ามันน่าจะเป็น 'ประชาธิปไตย' มากที่สุด .. " อาจารย์หยุดนิดนึง "ซึ่งไม่จริงครับ ยังมีปัญหาอีกหลายอย่างที่เกิดจากรัฐธรรมนูญ 2517 ได้สร้างเอาไว้ แล้วเราจะได้เรียนกันต่อไปครับ"

นักศึกษาคนหนึ่งยกมือถาม "ถ้าการบังคับสังกัดพรรคมันเป็นสาเหตุของปัญหา แล้วรัฐธรรมนูญ 2540 ที่ตั้งใจจะปฏิรูปการเมือง และรัฐธรรมนูญปี 2550 ที่จะแก้ปัญหาสมัยรัฐบาลทักษิณ ทำไมถึงยังบังคับ ส.ส. ให้ต้องสังกัดพรรคอยู่ละครับ?"
นักศึกษาอีกคนยกมือถามบ้าง "แต่ ส.ส. ก็ต้องมีวินัยพรรคไม่ใช่หรือคะ ถ้าไม่บังคับสังกัดพรรคแล้วเราจะมีพรรคการเมืองไปทำไม?"

"ถามดีทั้งสองคนเลยครับ" อาจารย์พูดยิ้มๆ "แต่วันนี้เวลาหมดแล้ว เราจะไปเรียนต่อในคราวหน้าครับ"

ขอบคุณข้อมูลจาก Prinya Thaewanarumitkul

   Address : สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์ โทร 0-2613-3130
COPYRIGHT (c) learningcitizen.com All rights reserved. | email : thaiciviceducation@gmail.com
Implemented Website by ColorPack Creations Co., Ltd.