• หน้าแรก
  • เกี่ยวกับเรา
  • บทความพิเศษ
  • วิชาพลเมือง
  • รวมวีดีโอ
  • โครงงาน
  • ข่าว
  • ภาพกิจกรรม
  • ติดต่อเรา
หน้าหลักวิชาพลเมืองวิชาพลเมือง

เรียนรัฐธรรมนูญออนไลน์ ตอนที่ 10 เรื่องของ Gettysburg Address - อะไรคือความหมายที่แท้จริงของ 'ประชาธิปไตย' : ของประชาชน - โดยประชาชน - หรือเพื่อประชาชน?

เขียนวันที่
วันอาทิตย์ ที่ 26 ตุลาคม 2557
ผู้ชม
5620 ครั้ง

10710607 784791888231418 7142792655139619979 n

"เราได้เรียนกันไปแล้วว่า ประชาธิปไตยคือระบอบการปกครองที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน" อาจารย์เริ่มต้น "และวันนี้เราจะมาเรียนในเรื่องที่เราค้างกันไว้ในคราวที่แล้ว คือประชาธิปไตยทำไมต้องเท่าเทียม และแตกต่างจากพวกมากลากไปอย่างไร .."
"อาจารย์ครับ" นักศึกษาคนหนึ่งยกมือ "อาจารย์ยังไม่ได้สอนเรื่อง 'ประชาธิปไตยคือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน' เลยครับ อาจารย์จะไม่สอนเรื่องนี้เหรอครับ"
"เอ่อ .. ก็ว่าจะข้ามไปเลย" อาจารย์หยุดคิดนิดนึง "พวกเธออยากเรียนเรื่องนี้ใช่ไหม แต่ต้องเล่าประวัติที่มาของคำกล่าวนี้ก่อนนะ" นักศึกษาพยักหน้า
"เอาละ ถ้างั้นวันนี้เรามาเรียนเรื่องนี้กันครับ"

"ประชาธิปไตยคือ 'การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน' ซึ่งเป็นนิยามของประชาธิปไตยที่รู้จักกันมากที่สุดและมีการอ้างถึงมากที่สุดนั้น นักศึกษาทราบไหมว่าใครเป็นคนกล่าวไว้?" อาจารย์ถามนักศึกษา
"อับราฮัม ลินคอล์นครับ" นักศึกษาคนเดิมยกมือตอบ
"ถูกต้องครับ อับราฮัม ลินคอล์น - ซึ่งจริงๆ ควรออกเสียงว่า เอบราแฮม ลิงคอล์น - ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้ในปี ค.ศ. 1863 ที่เมืองเกตตีสเบิร์ก จึงถูกเรียกว่า Gettysburg Address หรือสุนทรพจน์แห่งเมืองเกตตีสเบิร์ก .." อาจารย์เริ่มเล่าเรื่อง

"ขณะนั้นอเมริกากำลังเกิดสงครามกลางเมือง ที่มีเหตุมาจากการที่ประธานาธิบดีลิงคอล์นที่ได้รับการเลือกตั้งในปี ค.ศ.1860 ต้องการเลิกทาส แต่มลรัฐทางฝ่ายใต้ไม่ยอมเลิกทาส ในปี ค.ศ.1861 มลรัฐฝ่ายใต้จึงรวมกันประกาศแยกตัวออกมาจากสหรัฐอเมริกา หรือ United States of America และตั้งประเทศใหม่ที่มีชื่อว่า Confederate States of America สงครามกลางเมืองระหว่างฝ่ายเหนือที่เรียกย่อๆ ว่า Union กับฝ่ายใต้ที่เรียกย่อๆ ว่า Confederacy จึงเกิดขึ้นเพื่อรวมชาติอีกครั้ง .." อาจารย์กดสไลด์ ภาพสงครามกลางเมืองของอเมริกาปรากฏขึ้นบนจอ

"ปรากฏว่าสงครามที่ทั้งสองฝ่ายต่างคิดว่าจะจบในเวลาอันสั้น และมีคนตายไม่มาก กลับยืดเยื้อไปถึง 4 ปี และมีคนตายไปทั้งสิ้นเกือบ 7 แสนคน!" อาจารย์หยุดนิดนึง บรรยากาศทั้งห้องตกอยู่ในความเงียบสนิท ด้วยความที่นักศึกษานึกไม่ถึงมาก่อนว่าประเทศอเมริกาจะเคยฆ่ากันเองตายมากถึงขนาดนี้

"ในช่วงตรงกลางของสงคราม คือในปี ค.ศ.1863 ที่เมือง Gettysburg ซึ่งเป็นสมรภูมิที่ฆ่ากันตายมากที่สุด และเป็นจุดพลิกของสงคราม จากฝ่าย Union ของลิงคอล์นที่แพ้ฝ่าย Confederacy มาตลอด ก็ได้ชนะครั้งใหญ่เป็นครั้งแรกที่นี่ จึงมีการจัดงานยกย่องทหารฝ่ายเหนือที่ตายไปกว่า 4 หมื่นคน และลิงคอล์นก็ได้มากล่าวสุนทรพจน์ในวาระอันนี้ .." อาจารย์เดินไปกดสไลด์ที่คอมพิวเตอร์ Gettysburg Adresse ปรากฏขึ้นบนจอ

"Four scores and seven years ago our fathers brought forth on this continent, a new nation, conceived in Liberty, and dedicated to the proposition that all men are created equal.
...
"The world will little note, nor long remember what we say here, but it can never fotget what they did here. This dead shall not have died in vain - that this nation will have a new birth of freedom - and that government of the people, by the people, for the people shall not perish on the earth."

"ที่เห็นนี้เป็นเพียงท่อนแรกและท่อนสุดท้าย นักศึกษาไปเข้ากูเกิลและไปดาวน์โหลดฉบับเต็มมาอ่านดูเองได้ .. " อาจารย์หยุดนิดนึง "ฉบับเต็มไม่ยาวหรอกครับ เพราะตามประวัติศาสตร์ลิงคอล์นใช้เวลากล่าวสุนทรพจน์นี้เพียงแค่สองนาทีกว่าๆ เท่านั้น มาแปลเป็นไทยกันดูนะครับว่าลิงคอล์นพูดว่าอะไรบ้าง .."

"สุนทรพจน์นี้เริ่มต้นว่า 'Four scores and seven years ago' คำว่า score นี่แปลว่า 20 ครับเป็นการนับเลขแบบฝรั่งเศส 4 ของ 20 บวก 7 ก็คือ '87 ปีที่แล้ว' นั่นเอง" อาจารย์อธิบาย "ขอขยายความหน่อยครับ 87 ปีที่แล้วก็คือปี ค.ศ. 1776 ปีนั้นเกิดอะไรในอเมริกาครับ?" อาจารย์ชี้ไปที่นักศึกษาคนหนึ่ง
"ปี ค.ศ. 1776 เกิดอะไรในอเมริกาเหรอครับ?" นักศึกษาตอบไม่ได้จึงทวนคำถาม
"เป็นปีที่อเมริกาประกาศอิสรภาพจากอังกฤษค่ะ" นักศึกษาอีกคนยกมือตอบ
"ถูกต้องครับ" อาจารย์ยิ้มนิดนึงและเริ่มต้นแปลย่อหน้าแรก

"87 ปีที่แล้ว พ่อของเราได้นำความก้าวหน้ามาสู่ทวีปแห่งนี้ ชนชาติใหม่ที่เชื่อในอิสรภาพ และอุทิศตัวให้กับความคิดที่ว่า มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน"

"ประโยคสุดท้าย All men are created equal เป็นประโยคที่ประกาศในคำประกาศอิสรภาพของอเมริกาครับ" อาจารย์ขยายความ "ลิงคอล์นก็ย้อนไปทำนองว่า จำได้ไหมตอนเราประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ เหตุผลของเราคือ 'มนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน' มิใช่หรือ ถ้าเราเชื่อว่ามนุษย์เกิดมาเท่าเทียมกัน แล้วทำไมเราถึงเอาคนผิวดำมาเป็นทาสของเราแบบนี้ .." อาจารย์หยุดนิดนึงให้นักศึกษาคิดตาม และแปลย่อหน้าสุดท้ายต่อ

"โลกคงสนใจเพียงเล็กน้อย หรือจดจำไม่นานนักว่าเราพูดอะไรในที่นี้ แต่มันจะไม่มีวันถูกลืมเลยว่าพวกเขาได้ทำอะไรในที่นี้ ความตายของพวกเขาจะไม่สูญเปล่า - หากทำให้ชนชาตินี้จะได้กำเนิดใหม่ในเสรีภาพ - และการปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนจะไม่สูญสิ้นไปจากโลกนี้"

อาจารย์จบประโยคสุดท้ายด้วยน้ำเสียงหนักแน่น และกล่าวต่อ "ลิงคอล์นไม่ได้สู้เพียงแค่ให้ชนะฝ่ายใต้ แต่ลิงคอล์นสู้เพื่อปกป้อง 'การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน' ครับ!" อาจารย์หยุดนิดนึง
"ที่ลิงคอล์นกล่าวอย่างถ่อมตัวว่า 'โลกคงสนใจเพียงเล็กน้อย หรือจดจำไม่ยาวนานนักว่า เราพูดอะไรในที่นี้' เป็นเรื่องตรงกันข้ามครับ สุนทรพจน์อันนี้ได้กลายเป็นสุนทรพจน์ที่สำคัญที่สุดอันหนึ่ง ไม่เพียงแต่สำหรับคนอเมริกา แต่เป็นของคนทั่วโลกด้วย เพราะเมื่อฝ่าย Union ของลิงคอล์นชนะสงครามในอีก 2 ปีต่อมา ทำให้อเมริกาเลิกทาสสำเร็จ ซึ่งนำมาสู่การเลิกทาสทั่วโลกในเวลาต่อมา รวมถึงประเทศไทยด้วย!" อาจารย์กล่าวช้าๆ "และ 'การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน' ก็ได้กลายเป็นนิยามของประชาธิปไตยที่คนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกเรียกร้องและต่อสู้ให้ได้มาจนทุกวันนี้ครับ"

"ตรงนี้มีเกร็ดประวัติศาสตร์นิดนึง ความจริงแล้ว Gettysburg Address มีอีกอันนะครับ ของลิงคอล์นจริงๆ ต้องเป็นของแถมด้วยซ้ำไป นักศึกษาอยากฟังไหม?" นักศึกษาพยักหน้า อาจารย์จึงเล่าต่อ
"คนที่เขาเชิญมากล่าวสุนทรพจน์จริงๆ คือโปรเฟสเซอร์คนหนึ่งของมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ลิงคอล์นแค่พูดปิดท้ายในฐานะประธานาธิบดีเท่านั้น โปรเฟซเซอร์ก็ 'เล็คเชอร์' ไป 2 ชั่วโมง ก็พูดดีนะครับ แต่พอถึงตอนลิงคอล์นพูด ซึ่งใช้เวลาเพียงแค่ 2 นาที คนก็ลืมไปหมดเลยครับว่าโปรเฟสเซอร์คนนี้พูดว่าอะไรไว้บ้าง .."

นักศึกษาคนหนึ่งยกมืถาม "โปรเฟสเซอร์ฮาวาร์ดคนนี้ชื่ออะไรครับ"
"ชื่อ Edward Everett - เอ็ดเวิร์ด เอเวอร์เร็ตต์" อาจารย์ตอบ
"แล้วเค้าพูดว่าอะไรบ้างครับอาจารย์"
"นั่นน่ะสิ ผมก็อยากรู้เหมือนกัน ไปหาในอินเตอร์เน็ตมาหลายวันแล้ว ยังหาไม่เจอเลย .." นักศึกษาทำหน้าฉงนกันทั้งห้อง
" .. คือเค้าหายไปจากประวัติศาสตร์เลยครับ ทั้งๆ ที่พูดตั้ง 2 ชั่วโมง กลับแพ้คนที่พูดแค่ 2 นาที นักศึกษาที่รักครับ จะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่จำเป็นต้องพูดยาว พูดยาวๆ เสียอีกที่อาจจะเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ครับ"

อาจารย์กล่าวต่อ "ความจริงลิงคอล์นไม่ได้เอ่ยถึงคำว่า 'ประชาธิปไตย' ในสุนทรพจน์เกตตีสเบิร์กเลยนะครับ แต่ 'การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน' นี้แหละเห็นกันว่ามันคือความหมายที่แท้จริงของ 'ประชาธิปไตย' มันก็เลยกลายเป็นนิยามของประชาธิปไตยในเวลาต่อมา"

"คำถามคือนิยามของประชาธิปไตยอันนี้ถูกต้องแค่ไหน" อาจารย์ตั้งคำถาม "เราลองมาดูกัน เอาละ - ดูอันแรกก่อน ประชาธิปไตยคือการปกครอง 'เพื่อประชาชน' นักศึกษาเห็นด้วยไหมครับ?"
นักศึกษาพยักหน้ากันทั้งห้อง
"แต่ระบอบอื่นทำเพื่อประชาชน หรืออ้างว่าทำเพื่อประชาชนได้ไหมครับ?"
"ได้ครับ" นักศึกษาหลายคนตอบพร้อมๆ กัน
"ใช่ครับ ระบอบอะไรก็ทำเพื่อประชาชน หรืออ้างว่าทำเพื่อประชาชนได้ทั้งนั้น เราจึงไม่สามารถใช้นิยาม 'เพื่อประชาชน' แยกแยะระบอบประชาธิปไตยออกจากระบอบการปกครองอื่นได้เลยครับ!"

"แล้วอันแรก 'ของประชาชน' ล่ะ เป็นนิยามที่แท้จริงของประชาธิปไตยได้หรือยัง?"
"น่าจะได้แล้วค่ะ" นักศึกษาตอบ
"แต่ลำพังเขียนว่าเป็นอะไร หรือเป็นของใครมันทำให้เป็นจริงๆ ขึ้นมาได้ไหม ยกตัวอย่างเช่น สมาชิกวุฒิสภาที่รัฐธรรมนูญบัญญัติว่าเป็น 'ผู้แทนปวงชนชาวไทย' แต่ถ้ามาจากการแต่งตั้งจะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยได้จริงๆ ไหม?"
"ไม่น่าจะเป็นได้จริงๆ หรอกค่ะ"
อาจารย์พยักหน้าแล้วกล่าวต่อ "แบบเดียวกับรถยนต์ของนักศึกษา ไปดูดวงมา หมอดูบอกถูกโฉลกกับรถสีขาว แต่รถนักศึกษาเป็นสีดำ ต้องเปลี่ยนสีรถเป็นสีขาว นักศึกษาจะพ่นสีรถใหม่ไหม?" อาจารย์ชี้ให้นักศึกษาคนหนึ่งตอบ
"ไม่ครับ" นักศึกษาหัวเราะ "ผมจะไปซื้อสติกเกอร์มาติดว่า 'รถคันนี้สีขาวครับ" นักศึกษาหัวเราะกันทั้งห้อง
"แล้วการติดสติกเกอร์ว่ารถคันนี้สีขาว มันทำให้รถสีดำกลายเป็นรถสีขาวได้ไหมครับ?"
"ไม่ได้ครับ"
"แล้วนี่เราหลอกใครเนี่ย" อาจารย์ถาม
นักศึกษาหัวเราะ "ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ครับ"
"ถ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง แต่โดนหลอกง่ายๆ แบบนี้ .. " อาจารย์เว้นนิดนึง นักศึกษาหัวเราะ ".. จะมีปัญญามาแก้กรรมอะไรให้นักศึกษาได้ครับ" อาจารย์ยิ้มนิดนึงและกล่าวต่อ
"ในทางกลับกันแล้วถ้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์มีจริง แล้วทรงภูมิปัญญา นักศึกษาคิดว่าสิ่งศักดิ์สิทธ์์จะดูออกไหมว่านักศึกษาเปลี่ยนสีรถแล้วหรือยัง"
นักศึกษาพยักหน้า "น่าจะดูออกสิครับ"
"นักศึกษาคิดว่าทำอย่างนี้หลอกสิ่งศักดิ์สิทธิ์ได้ไหม"
"ไม่น่าจะหลอกได้ครับ"
"ตกลงเราหลอกใครครับ"
"หลอกตัวเองครับ" นักศึกษาตอบพร้อมกับหัวเราะ
"เอาล่ะ รถเราเป็นสีอะไรไม่ได้อยู่ที่ว่า เราแปะสติกเกอร์ไว้ท้ายรถว่ารถเราสีอะไร แต่อยู่ที่ว่ารถเราจริงๆ เป็นสีอะไร 'ของประชาชน' จริงหรือไม่ก็ไม่ได้อยู่เพียงแค่ว่าเขียนว่าเป็นของประชาชนครับ"

อาจารย์กล่าวต่อ "ดังนั้นนิยามทั้งสามประการ เหลืออันเดียวครับคือ 'โดยประชาชน' เพราะถ้าเราสร้างระบอบการปกครอง 'โดยประชาชน' ขึ้นมาได้ ระบอบนั้นก็ย่อมเป็น 'ของประชาชน' โดยตัวของมันเอง และถ้าเราสร้างระบอบการปกครอง 'โดยประชาชน' ซึ่งเป็น 'ของประชาชน' ขึ้นมาได้ ระบอบนั้นก็ย่อมเป็นไปเพื่อ .." อาจารย์หยุดนิดนึง
" .. เพื่อประชาชนครับ" นักศึกษาตอบพร้อมๆ กันเกือบทั้งห้อง
"ใช่ครับ ถ้าเราต้องการระบอบการปกครองที่เป็นไปเพื่อประชาชน เราก็ต้องสร้างระบอบการปกครอง 'โดยประชาชน' ครับ!"

"ใครมีอำนาจสูงสุดในประเทศไหน ก็ย่อมเป็นผู้ปกครองประเทศนั้น แล้วในระบอาประชาธิปไตยใครเป็นเจ้าของอำนาจสฺงสุดครับ" อาจารย์ถามต่อ
"ประชาชนครับ"
"ดังนั้น ประชาธิปไตยจึงหมายถึง 'การปกครองตนเอง หรือปกครองกันเองของประชาชน' ครับ" อาจารย์หยุดนิดนึง
"และนี่คือหลักการพื้นฐานข้อแรกของประชาธิปไตย - อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชนและเป็นการปกครองโดยประชาชนครับ"

"อาจารย์ครับ แล้วรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 บัญญัติเรื่องอำนาจอธิปไตยไว้ว่าเป็นของใครครับ?" นักศึกษาคนหนึ่งยกมือถาม
"แล้วสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติในขณะนี้มีฐานะเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทยหรือเปล่าคะ" นักศึกษาอีกคนยกมือ

"ถามดีมากครับ" อาจารย์รู้สึกทึ่งกับคำถามของนักศึกษาที่สามารถโยงมายังสถานการณ์ปัจจุบันได้ "ให้นักศึกษาไปเปิดรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 มาตรา 3 และมาตรา 11 ก็จะได้คำตอบ วันนี้เวลาหมดแล้ว ไปเรียนต่อกันในคราวหน้าครับ"

   Address : สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์ โทร 0-2613-3130
COPYRIGHT (c) learningcitizen.com All rights reserved. | email : thaiciviceducation@gmail.com
Implemented Website by ColorPack Creations Co., Ltd.