• หน้าแรก
  • เกี่ยวกับเรา
  • บทความพิเศษ
  • วิชาพลเมือง
  • รวมวีดีโอ
  • โครงงาน
  • ข่าว
  • ภาพกิจกรรม
  • ติดต่อเรา
หน้าหลักวิชาพลเมืองวิชาพลเมือง

เรียนรัฐธรรมนูญออนไลน์ ตอนที่ 17 : ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ 'หนา' กว่าฉบับที่ผ่านมาหรือไม่ และรัฐธรรมนูญ 'หนา' เป็นปัญหาอย่างไร?

เขียนวันที่
วันศุกร์ ที่ 12 มิถุนายน 2558
ผู้ชม
2073 ครั้ง

11407090 899356350108304 8068530660920599018 n

"ตามที่เราได้เรียนไปในคราวที่แล้วว่า ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนดให้มีองค์กรอิสระใหม่ๆ มากมาย ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงหนามาก" อาจารย์เริ่มต้น "แต่ที่ว่า 'หนา' นี่มัน 'หนา' แค่ไหน? 'หนา' ที่สุดหรือไม่? แล้วรัฐธรรมนูญ 'หนา' เป็นปัญหาอย่างไร? คือสิ่งเราจะเรียนกันในวันนี้ครับ"

"นักศึกษาดูซิครับว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีกี่หน้า?" อาจารย์ถามนักศึกษาที่ปรินท์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาจากอินเตอร์เน็ต
นักศึกษาพลิกไปดูหน้าสุดท้าย "130 หน้าค่ะ"
"นักศึกษาคิดว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หนากว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ไหม?" อาจารย์หันไปถามนักศึกษาอีกคน
".. ก็น่าจะหนากว่านะครับ เพราะร่างรัฐธรรมนูญใหม่มี 315 มาตรา แต่รัฐธรรมนูญ 2550 มีแค่ 309 มาตรา" นักศึกษาตอบ
"แสดงว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ที่มี 336 มาตรา ก็ต้องหนากว่ารัฐธรรมนูญ 2550 และร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ใช่ไหมครับ?"
".. ครับ ก็น่าจะเป็นอย่างงั้นนะครับ"
“ผิดครับ” อาจารย์ส่ายหน้ายิ้มๆ “รัฐธรรมนูญ 2540 บางกว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ครับ! มาตรามีสั้นมียาวได้ หนาหรือไม่หนาเขาไม่นับกันที่จำนวนมาตรา แต่นับที่จำนวนคำครับ!"

"ส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะหนากว่ารัฐธรรมนูญ 2550 หรือไม่ เรามาดูกันครับ" อาจารย์เดินไปที่คอมพิวเตอร์ "นี่คือจำนวนคำของรัฐธรรมนูญฉบับ 'ถาวร' ของประเทศไทยทุกฉบับที่ผ่านมา นับโดยใช้โปรแกรมนับคำของไมโครซอฟท์เวิร์ดครับ” อาจารย์กดสไลด์ รัฐธรรมนูญฉบับต่างๆ พร้อมด้วยจำนวนมาตรา และจำนวนคำปรากฏขึ้นบนจอ

รัฐธรรมนูญ 10 ธันวาคม 2475 : 68 มาตรา 3,722 คำ
รัฐธรรมนูญ 2489 : 96 มาตรา 5,890 คำ
รัฐธรรมนูญ 2492 : 188 มาตรา 11,616 คำ
รัฐธรรมนูญ 2511 : 183 มาตรา 11,349 คำ
รัฐธรรมนูญ 2517 : 238 มาตรา จำนวนคำ 15,013 คำ
รัฐธรรมนูญ 2521 : 206 มาตรา จำนวนคำ 14,116 คำ
รัฐธรรมนูญ 2534 : 223 มาตรา จำนวนคำ 16,670 คำ

อาจารย์กดสไลด์พร้อมกับอ่านจำนวนมาตราและจำนวนคำไปทีละฉบับจนถึงรัฐธรรมนูญ 2534
“เราจะเห็นได้ว่ารัฐธรรมนูญไทยฉบับแรกๆ มีแค่ไม่กี่พันคำ แล้วก็เพิ่มขึ้นเป็นหมื่นกว่าคำ จนถึงรัฐธรรมนูญ 2534 รัฐธรรมนูญของประเทศไทยมีความหนาโดยเฉลี่ย 11,197 คำเท่านั้นเองครับ แล้วการเปลี่ยนแปลงสำคัญก็เริ่มเกิดขึ้นในรัฐธรรมนูญ 2540 ...” อาจารย์กดสไลด์ต่อ

รัฐธรรมนูญ 2540 : 336 มาตรา 37,871 คำ

“รัฐธรรมนูญ 2540 เพิ่มเป็น 37,871 คำ! หนากว่ารัฐธรรมนูญ 2534 สองเท่าครึ่ง และหนากว่าค่าเฉลี่ยของรัฐธรรมนูญทุกฉบับที่ผ่านมาสามเท่าครับ!" นักศึกษาเงียบสนิทไปทั้งห้อง "แล้วรัฐธรรมนูญ 2550 ล่ะ?” อาจารย์กดสไลด์ต่อ

รัฐธรรมนูญ 2550 : 309 มาตรา 44,769 คำ

"รัฐธรรมนูญ 2550 เพิ่มเป็น 44,769 คำ หนากว่ารัฐธรรมนูญ 2540 ประมาณ 7 พันคำครับ!” เริ่มมีเสียงฮือฮาดังขึ้นมา “แล้วร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ละ หนากว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ไหม?" อาจารย์ตั้งคำถามพร้อมกับมองไปที่นักศึกษาที่กำลังรอฟังอย่างจดจ่อ แล้วจึงกดสไลด์

ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ : 315 มาตรา 55,992 คำ

"55,992 คำครับ!" เสียงฮือฮาดังขึ้นมาทั้งห้อง “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หนากว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ถึง 1 หมื่น 1 พันคำครับ!”

"รัฐธรรมนูญของประเทศที่ประชาธิปไตยเข้มแข็งมีความหนาโดยเฉลี่ยประมาณ 1 หมื่นกว่าคำเท่านั้นครับ ของเรา 5 หมื่น 6 พันคำ หนาเกินค่าเฉลี่ยไป 5 เท่าครับ!” อาจารย์รอให้เสียงฮือฮาเงียบลง แล้วจึงกล่าวต่อ “รัฐธรรมนูญของสหรัฐอเมริกาตอนประกาศใช้ในปี ค.ศ. 1787 หนาเพียง 4,378 คำเท่านั้นครับ ใช้ไป 228 ปี แก้ไขเพิ่มเติมไป 27 ครั้ง ปัจจุบันก็หนาเพียง 7,478 คำเท่านั้น ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญถาวรที่บางที่สุดในโลก นักเรียนเกรด 6 หรือเทียบเท่าประถม 6 บ้านเรา เขาก็ให้เรียนรัฐธรรมนูญกันแล้วครับ ที่ทำอย่างนั้นได้เพราะมันบาง" นักศึกษาหลายคนทำหน้าทึ่ง

"ส่วนรัฐธรรมนูญของประเทศที่ประชาธิปไตยประสบความสำเร็จที่หนากว่าเพื่อนก็คือรัฐธรรมนูญของประเทศเยอรมันที่เรียกว่า 'กฎหมายพื้นฐาน' ครับ" อาจารย์หยุดนิดนึง "ทำไมประเทศเยอรมันจึงเรียกรัฐธรรมนูญของตนเองว่า 'กฎหมายพื้นฐาน' เราจะได้เรียนกันต่อไป แต่ที่ว่าหนาที่สุด ก็หนาแค่ 22,234 คำเท่านั้นครับ!”

“แล้วการที่รัฐธรรมนูญของประเทศไทยหนาขึ้นมาเรื่อยๆ จนกลายเป็นเกือบ 6 หมื่นคำแล้วอย่างนี้ มันเกิดจากอะไร นักศึกษาคิดว่าไงครับ?” อาจารย์หันไปถามนักศึกษาคนหนึ่ง
“.. เอ่อ ผมว่าคงเพราะ นักการเมืองของเราไม่มีคุณภาพอย่างของประเทศตะวันตก นักการเมืองเราโกงกิน ชอบหาช่องโหว่ของกฎหมาย ก็เลยต้องเขียนอุดช่องว่าง รัฐธรรมนูญก็เลยหนาขึ้นเรื่อยๆ .. ผมว่านะครับ” นักศึกษาตอบ
“แล้วนักการเมืองที่ดี มีคุณภาพ ที่นักศึกษาต้องการคือนักการเมืองแบบไหนครับ?” อาจารย์ถามต่อ
“ก็ .. เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่โกงกิน ไม่ใช้อำนาจเพื่อประโยชน์ส่วนตัวครับ ..”
“แล้วนักศึกษาจะเขียนรัฐธรรมนูญอย่างไรให้ได้นักการเมืองอย่างที่นักศีกษาต้องการ คือเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของประชาชนครับ?”
"เอ่อ .." นักศึกษาตอบไม่ได้จึงใช้ปฏิภาณไหวพริบถามอาจารย์กลับ "แล้วอาจารย์จะเขียนยังไงครับ?"
อาจารย์หัวเราะที่ถูกถามกลับ "งั้นเรามาดูว่าที่ผ่านมาเขาเขียนกันยังไงนะครับ" อาจารย์เดินไปที่คอมพิวเตอร์อีกครั้ง

"นี่คือสถานะความเป็น ส.ส. และ ส.ว. ที่เขียนในรัฐธรรมนูญแต่ละฉบับ ขอเริ่มจากรัฐธรรมนูญปี 2717 ที่เขียนเรื่องนี้ไว้สั้นที่สุดก่อนนะครับ” อาจารย์กดสไลด์ รัฐธรรมนูญ 2517 มาตราที่ว่าด้วยเรื่องสถานะของสมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรปรากฏขึ้นบนจอ

รัฐธรรมนูญ 2517 สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย

“รัฐธรรมนูญ 2521 ก็บัญญัติไว้เหมือนกันครับ” อาจารย์กดสไลด์ต่อ

รัฐธรรมนูญ 2521 สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย

“รัฐธรรมนูญฉบับต่อมาคือรัฐธรรมนูญ 2534 เขียนเหมือนรัฐธรรมนูญ 2517 และ 2521 แต่เพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งประโยค คือ ‘และต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย’ ...” อาจารย์กดสไลด์

รัฐธรรมนูญ 2534 สมาชิกวุฒิสภาและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และต้องปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย

“ผู้ร่างรัฐธรรมนูญ 2534 คงจะเห็นว่า ส.ว. และ ส.ส. ของเราไม่ค่อยปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชน ก็เลยเขียนประโยคนี้เพิ่มเข้าไป โดยหวังว่าเมื่อใส่ประโยคนี้เข้าไปแล้ว ส.ว. และ ส.ส. ของเราจะปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชน ..” นักศึกษาหลายคนหัวเราะ อาจารย์ยิ้มนิดนึง “แล้วมันได้ผลไหมละครับ?” นักศึกษาส่ายหน้า

“รัฐธรรมนูญ 2540 ก็เขียนเหมือนรัฐธรรมนูญ 2534 ทุกอย่าง แต่คงเห็นว่า ส.ส. และ ส.ว. ของเราไม่ค่อยซื่อสัตย์และไม่ค่อยสุจริต ก็เพิ่มวลี ‘ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต’ เข้าไปอีกอัน ...” อาจารย์กดสไลด์ต่อ

รัฐธรรมนูญ 2540 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตเพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย

มีเสียงหัวเราะดังขึ้นมา "แล้วมันได้ผลไหมละครับ?” อาจารย์ถาม นักศึกษายิ้มกันทั้งห้องแล้วก็ส่ายหน้า “รัฐธรรมนูญ 2550 ก็มีทุกอย่างที่รัฐธรรมนูญ 2540 ได้เขียนไว้ แต่คงจะเห็นว่า ส.ส. และ ส.ว. ของเราตกอยู่ใต้อำนาจพรรคการเมือง ก็เลยเติม 'โดยไม่อยู่ในอาณัติมอบหมายหรือความครอบงำใดๆ' เข้าไป แล้วก็คงจะเห็นว่า ส.ส. และ ส.ว. ของเราชอบมีประโยชน์ทับซ้อน ก็เลยเอาวลี 'โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์’ มาปิดท้าย ดังนี้ครับ” อาจารย์กดสไลด์ต่อ

รัฐธรรมนูญ 2550 สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภาย่อมเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย โดยไม่อยู่ในความผูกมัดแห่งอาณัติมอบหมาย หรือความครอบงำใดๆ และต้องปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชนชาวไทย โดยปราศจากการขัดกันแห่งผลประโยชน์

เสียงฮือฮาดังขึ้นมา นักศึกษาหลายคนหัวเราะ "รัฐธรรมนูญของเราก็หนาขึ้นมาเรื่อยๆ ด้วยการเขียนเติมเข้าไปด้วยอะไรแบบนี้แหละครับ” อาจารย์หยุดนิดนึง “เราอยากให้นักการเมืองเป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต ปฏิบัติหน้าที่เพื่อประโยชน์ส่วนรวมของปวงชน เขียนแบบนี้มันได้ผลไหมครับ?" นักศึกษาส่ายหน้า "ถ้ามันได้ผล เราจะต้องมาร่างรัฐธรรมนูญกันใหม่ทุกครั้งไปอย่างนี้หรือ? เขียนแบบนี้มันมีแต่ทำให้รัฐธรรมนูญหนาขึ้นเท่านั้นแหละครับ!"

“นักศึกษาจำตัวอย่างเรื่องการแบ่งเค้กระหว่างสมศักดิ์และสมศรีได้ไหมครับ" อาจารย์ย้อนกลับไปที่ตอนแรก "ถ้าสมศักดิ์เป็นคนตัดเค้ก เราจะทำอย่างไร ให้สมศักดิ์ตัดเค้กให้สมศรีเท่ากันครับ? ไปขอร้องหรือสอนสั่งสมศักดิ์ให้เป็นคนดี มีความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีประโยชน์ทับซ้อน แล้วก็ให้ตัดเค้กให้สมศรีเท่าๆ กัน มันเป็นวิธีที่ได้ผลหรือเปล่าครับ?"
"ไม่ได้ผลค่ะ" นักศึกษาคนหนึ่งตอบ
"ถ้างั้นวิธีที่ได้ผลต้องทำอย่างไรครับ?"
"ถ้าสมศักดิ์เป็นคนตัดเค้ก ต้องให้สมศรีเป็นคนเลือกเค้กค่ะ"
"ครับ นี่แหละคือบทบาทหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของรัฐธรรมนูญ คือ 'แบ่งแยกอำนาจ' ให้คนตัดเค้กและคนเลือกเค้กเป็นคนละคนกันครับ! ตามหลักการแบ่งแยกอำนาจ ต้องแยกอำนาจเป็น 3 ฝ่าย คือ 'ฝ่ายนิติบัญญัติ' หรือผู้ตรากฎหมาย 'ฝ่ายบริหาร' หรือผู้ใช้อำนาจที่ได้มาจากกฎหมาย และ 'ฝ่ายตุลาการ' หรือผู้ตีความกฎหมายว่าฝ่ายบริหารใช้อำนาจในขอบเขตของกฎหมายหรือไม่" อาจารย์สรุปประเด็น "การเขียนรัฐธรรมนูญไม่ให้เกิดการใช้อำนาจในทางมิชอบ หรือใช้อำนาจเพื่อตนเอง ต้องเขียนรัฐธรรมนูญให้มีการแบ่งแยกอำนาจและให้อำนาจตรวจสอบและถ่วงดุลกันครับ!"

"แต่ของเราไปทำอีกอย่าง" อาจารย์กล่าวต่อ "ดังที่ได้เรียนไปในคราวที่แล้ว เราไม่ได้แบ่งแยกอำนาจให้มันขาดกัน แต่ไปหา 'คนกลาง' มาตัดเค้ก พอคนกลางไม่กลางก็ไปหาคนกลางมาเลือกคนกลาง แล้วก็หาคนกลางมาเลือกคนกลางเพื่อมาเลือกคนกลาง รัฐธรรมนูญก็เลยหนาขึ้นมาเรื่อยๆ แบบนี้แหละครับ" อาจารย์หยุดนิดนึง "ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ถึงแม้จะมีการแก้ปัญหาเรื่องการแบ่งแยกอำนาจไปบ้างแล้ว แต่ก็ยังมุ่งมาในทิศทางนี้ เพราะมีองค์กรอิสระหรือ 'คนกลาง' มากขึ้นถึง 11 องค์กร และตรงนี้แหละที่ทำให้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้หนาถึง 5 หมื่น 6 พันคำครับ”

นักศึกษาคนหนึ่งยกมือ "แต่ผมฟังกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เค้าบอกว่าจริงๆ ที่หนาก็เพราะมีเรื่องปฏิรูปและปรองดอง ซึ่งจะบังคับใช้แค่ 5 ปีแล้วจะสิ้นสภาพไป ดังนั้น จริงๆ ก็อาจจะไม่หนามากมั้งครับ?"
"ดีครับ" อาจารย์ชม "แย้งได้ตรงประเด็น เอาละเปิดดูซิครับ เรื่องการปฏิรูปและสร้างความปรองดอง อยู่ตรงไหนครับ?" นักศึกษาทั้งห้องเปิดหาในร่างรัฐธรรมนูญทั้งที่เป็นเล่มและที่อยู่ในมือถือ
"เจอแล้วค่ะ" นักศึกษาคนหนึ่งยกมือ "อยู่ที่ภาค 4 เรื่องปฏิรูปและปรองดองค่ะ"
"ดีมากครับ แล้วมาตราไหนที่บอกว่าภาคนี้ใช้บังคับแค่ 5 ปี?"
"มาตรา 278 กำหนดว่าภาค 4 จะอยู่แค่ 5 ปี แล้วจะสิ้นสภาพไปครับ" นักศึกษาอีกคนยกมือ
"แล้วภาค 4 มีกี่คำรู้ไหมครับ?” อาจารย์ตั้งคำถามต่อ “ลองมานับคำดูด้วยกัน” อาจารย์เปิดร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นในคอมพ์พิวเตอร์ แล้วเลื่อนไปที่ภาค 4 จากนั้นก็ก๊อปปี้เฉพาะภาค 4 แล้วเอามาเปิดในไฟล์ใหม่ เพียงชั่วขณะตัวเลขจำนวนคำก็ปรากฏขึ้นที่มุมขวาล่างของจอ

7,015 คำ

“ภาค 4 มีทั้งหมด 7,015 คำครับ ตัดภาคนี้ออก ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก็ยังเหลือ ..” อาจารย์กดเครื่องคิดเลข “55,992 ลบด้วย 7,015 ผลลัพธ์คือ 48,977 คำครับ” อาจารย์หยุดนิดนึง “รัฐธรรมนูญ 2550 กี่คำนะครับ?" อาจารย์กดสไลด์ย้อนกลับไป
"44,769 คำครับ" นักศึกษาคนหนึ่งอ่านจำนวนคำของรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ปรากฏบนจอ
"ถึงแม้ 5 ปีผ่านไป ภาค 4 ในร่างรัฐธรรมนูญใหม่จะสิ้นสภาพบังคับ แต่รัฐธรรมนูญฉบับนี้ก็ยังเหลือตั้ง 48,977 คำ! ซึ่งหนากว่ารัฐธรรมนูญ 2550 ตั้ง 4 พันกว่าคำ คือยังหนามากอยู่ดีต่อให้ไม่มีภาค 4 ครับ”

“แล้วรัฐธรรมนูญหนาเกินไปมันเป็นปัญหาอย่างไร?” อาจารย์หันไปถามนักศึกษาคนหนึ่ง “นักศึกษาคิดว่ารัฐธรรมนูญหนาๆ มันไม่ดีอย่างไรครับ?”
“เอิ่ม ... เปิดหายากครับ” เพื่อนๆ หัวเราะ
"แล้วคุณล่ะ?" อาจารย์หันไปถามอีกคน
“เอ่อ .. พอมันยาวมาก เลยไม่ค่อยอยากอ่านครับ"
"มันซับซ้อนเกินไป องค์กรเยอะเกินไป ถึงอยาก อ่าน ก็อ่านก็ไม่ค่อยเข้าใจค่ะ .." นักศึกษาอีกคนยกมือเสริม
“เอาล่ะ ประชาธิปไตยก็เหมือนแข่งฟุตบอล คำถามคือ ทำไมกรรมการจึงต้องตัดสินตามกติกาครับ?" อาจารย์หันไปถามนักศึกษาคนหนึ่ง
"เอ่อ .. มีกติกาก็ต้องตัดสินตามกติกาสิครับ .."
"แล้วถ้าไม่ตัดสินตามกติกาคนดูจะว่าไง?"
"ถ้าไม่ตัดสินตามกติกา คนดูคงไม่ยอมเพราะคนดูรู้กติกาครับ"
“ครับ ถ้ากรรมการไม่ตัดสินตามกติกา คนดูจะรู้ทันที การแข่งขันฟุตบอลแท้ที่จริงแล้วจึงถูกควบคุมโดยคนดูครับ!" อาจารย์พูดด้วยน้ำเสียงหนักแน่น "ถ้าเป็นฟุตบอลโลกก็คนทั้งโลกเลยครับที่เป็นคนคุมการแข่งขัน กรรมการจะมีอำนาจมากหน่อยก็เฉพาะลูกที่มันคาบลูกคาบดอกออกได้สองทาง นอกนั้นก็ไม่มีอำนาจอะไร ต้องตัดสินไปตามกติกาครับ!”

“แล้วทำไมคนดูจึงรู้กติกาครับ?” อาจารย์หันไปถามนักศึกษาอีกคน
"ก็ .. กติกาฟุตบอลมันง่ายๆ ครับ"
“ครับ รัฐธรรมนูญก็แบบเดียวกัน กฎหมายจะบังคับใช้ได้ ต้องเริ่มจากคนต้องรู้กฎหมาย คนจึงจะทำตามกฎหมายได้ กฎหมายยิ่งมากคนยิ่งไม่รู้ จึงยิ่งใช้บังคับไม่ได้ครับ!" อาจารย์หยุดนิดนึง "เมื่อคนดูรู้กติกา นักบอลจึงต้องเตะบอลตามกติกา กรรมการต้องตัดสินตามกติกา รัฐธรรมนูญจึงไม่ควรหนาเกินไป เพื่อให้ประชาชนรู้กติกา และเป็นคนคุมทุกฝ่ายอีกทีครับ!"

นักศึกษาอีกคนยกมือ "เห็นกรรมาธิการยกร่างบอกว่า ร่างรัฐธรรมนูญจะเพิ่มอำนาจให้พลเมือง จะมีสมัชชาพลเมือง สภาตรวจสอบภาคพลเมือง สมัชชาคุณธรรม อะไรพวกนี้ ถ้ารัฐธรรมนูญจะหนาขึ้นเพราะมีองค์กรพวกนี้ก็คงไม่เป็นไรมั้งครับอาจารย์?"
"การเพิ่มอำนาจให้พลเมืองเป็นเรื่องดีครับ" อาจารย์ตอบ "แต่ต้องไม่ลืมว่าพลเมืองกับอำนาจรัฐเป็นคนละด้านกันนะครับ สมัชชาพลเมือง และองค์กรตรวจสอบภาคพลเมืองเป็นสิ่งที่ดี แต่ต้องระวังไม่ให้กลายเป็นองค์กรรัฐไปนะครับ .."
นักศึกษาคนหนึ่งยกมือ "เป็นองค์กรรัฐไม่ดียังไงครับอาจารย์ มีอำนาจก็จะได้ใช้อำนาจไปตรวจสอบนักการเมืองไงครับ .."
"ที่ใดมีอำนาจ ที่นั้นก็จะมีการแย่งชิงอำนาจนะครับ การทำให้องค์กรภาคประชาสังคมกลายเป็นองค์กรรัฐไม่แน่ว่าจะดีนะครับ ผมว่าถ้าต้องการเพิ่มอำนาจให้ 'พลเมือง' จริงๆ วิธีที่ดีที่สุดคือทำรัฐธรรมนูญให้บางลง แล้วพลเมืองจะมีอำนาจมากขึ้นเองครับ”

นักศึกษาคนหนึ่งยกมือ "แต่อาจารย์ครับ ประชาชนของเรายังไม่ค่อยมีความรู้เรื่องประชาธิปไตย จะเป็น 'พลเมือง' อย่างที่อาจารย์ว่าได้เหรอครับ เลือกตั้งใหม่ปัญหาก็วนกลับไปแบบเดิม ที่เค้าเสนอให้ คสช. ปฏิรูปก่อนเลือกตั้งไปอีกซัก 2 ปี ก็น่าจะดีนะครับ .."
นักศึกษาอีกคนยกมือแย้ง "จะปฏิรูปอะไรก็เอาแต่เรียกร้อง คสช. แก้ปัญหาอะไรก็เอาแต่จะขอให้ใช้มาตรา 44 .. ที่ไม่ค่อยรู้จักประชาธิปไตย ที่ยังไม่เป็นพลเมือง สงสัยไม่ใช่ชาวบ้านหรอกมั้ง .." อุณหภูมิในห้องเรียนสูงปรี๊ดขึ้นมาทันที นักศึกษาอีกคนยกมือ "อาจารย์คะ ที่เถียงกันอยู่นี่ จริงๆ แล้ว 'พลเมือง' คืออะไรคะ แล้ว 'พลเมือง' นี่มัน ต่างจาก 'ประชาชน' ยังไงคะ?"

"ถามได้ดีครับ" อาจารย์พูดยิ้มๆ "นี่คือเรื่องที่เราจะเรียนกันในครั้งหน้า วันนี้หมดเวลาแล้ว เอาไว้ไปถกกันต่อในคราวหน้าครับ!"

   Address : สถาบันสัญญา ธรรมศักดิ์ เพื่อประชาธิปไตย อาคารอเนกประสงค์ 1 ชั้น 7 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ท่าพระจันทร์ โทร 0-2613-3130
COPYRIGHT (c) learningcitizen.com All rights reserved. | email : thaiciviceducation@gmail.com
Implemented Website by ColorPack Creations Co., Ltd.